จุดมุ่งหมายของการเรียนรู้
พฤติกรรมการเรียนรู้ตามจุดมุ่งหมายของนักการศึกษาซึ่งกำหนดโดย บลูม และคณะ (Bloom and Others ) มุ่งพัฒนาผู้เรียนใน 3 ด้าน ดังนี้
ด้านพุทธิพิสัย (Cognitive Domain) คือ ผลของการเรียนรู้ที่เป็นความสามารถทางสมอง ครอบคลุมพฤติกรรมประเภท ความจำ ความเข้าใจ การนำไปใช้ การวิเคราะห์ การสังเคราะห์และประเมินผล
ด้านจิตพิสัย (Affective Domain ) คือ ผลของการเรียนรู้ที่เปลี่ยนแปลงด้านความรู้สึก ครอบคลุมพฤติกรรมประเภท ความรู้สึก ความสนใจ ทัศนคติ การประเมินค่าและค่านิยม
ด้านทักษะพิสัย (Psychomotor Domain) คือ ผลของการเรียนรู้ที่เป็นความสามารถด้านการปฏิบัติ ครอบคลุมพฤติกรรมประเภท การเคลื่อนไหว การกระทำ การปฏิบัติงาน การมีทักษะและความชำนาญ
การกำหนดจุดประสงค์การเรียนรู้
การกำหนดจุดประสงค์การเรียนรู้ (Objectives) เป็นการกำหนดสิ่งที่ต้องการให้ผู้เรียนมีหรือบรรลุซึ่งมีทั้งด้านความรู้ ทักษะและเจตคติ จุดประสงค์การเรียนรู้จะได้มาจากระดับของหลักสูตร คือตั้งแต่จุดหมายของหลักสูตร จุดประสงค์ของสาขาวิชา มาตรฐานวิชาชีพสาขาวิชาและสาขางานจนถึงระดับรายวิชา คือ จุดประสงค์รายวิชา มาตรฐานรายวิชาและคำอธิบายรายวิชา ที่ต้องการจัดการเรียนรู้เพื่อมุ่งไปสู่ผลสัมฤทธิ์ตามจุดประสงค์ระดับหลักสูตร ทั้งนี้ การเขียนจุดประสงค์การเรียนรู้ที่สมบูรณ์นั้นจะต้องเขียนให้ครอบคลุมพฤติกรรมทั้ง 3 ด้านดังกล่าว
การจำแนกจุดประสงค์การเรียนรู้
ด้านพุทธิพิสัย (Cognitive Domain) คือ จุดประสงค์การเรียนรู้ที่เน้นความสามารถทางสมอง หรือความรอบรู้ในเนื้อหาวิชาหลักการหรือทฤษฎีพฤติกรรมการเรียนรู้ด้านนี้สามารถวัดได้จากการให้ผู้เรียนแจกแจงความรู้ เขียนรายการสิ่งที่รู้ยกตัวอย่าง ประยุกต์กฎต่าง ๆ ที่เรียนไป หรือวิเคราะห์สถานการณ์ เป็นต้น พฤติกรรมตามระดับการเรียนรู้ด้านพุทธิพิสัยแบ่งไว้ 6 ขั้น ซึ่งการเรียนรู้ในระดับที่สูงขึ้นไป ต้องอาศัยระดับการเรียนรู้ที่ต่ำกว่าเสมอ
ด้านจิตพิสัย (Affective Domain) คือ จุดประสงค์การเรียนรู้ที่เน้นหนักในด้านความสนใจ เจตคติ ค่านิยม อารมณ์และความประทับใจซึ่งวัดได้โดยการสังเกต แต่บางเรื่องก็ไม่สามารถสังเกตได้โดยตรง การระบุพฤติกรรมที่คาดหวังให้ผู้เรียนแสดงออกนั้น ต้องอาศัยการรวบรวมพฤติกรรมที่ชี้ถึงความรู้สึก เจตคติและค่านิยมของตนเองและผู้อื่น แล้วนำมาใช้ในการกำหนดเป็นพฤติกรรมที่คาดหวัง
ด้านทักษะพิสัย (Psychomotor Domain) คือจุดประสงค์การเรียนรู้เกี่ยวกับการพัฒนาทักษะทางกาย เน้นหนักด้านการวางท่าทางให้ถูกต้อง และเหมาะสมกับการปฏิบัติงานแต่ละชนิด สามารถระบุพฤติกรรมที่แสดงออกได้จากการตีความทักษะหรือการปฏิบัติออกมาเป็นพฤติกรรม ซึ่งสังเกตได้จากความถูกต้องแม่นยำ ความว่องไว คล่องแคล่ว และสม่ำเสมอ
ระดับของจุดประสงค์การเรียนรู้
ในการกำหนดจุดประสงค์การเรียนรู้โดยทั่วไปจะแบ่งเป็น 2 ระดับคือ
1. จุดประสงค์ทั่วไป หรือจุดประสงค์ปลายทาง
2. จุดประสงค์เชิงพฤติกรรมหรือจุดประสงค์นำทาง หรือจุดประสงค์เฉพาะ
จุดประสงค์ทั่วไป
จุดประสงค์ทั่วไปหรือจุดประสงค์ปลายทาง คือ จุดประสงค์ที่เป็นเป้าหมายสำคัญที่มุ่งหวังให้เกิดขึ้นกับผู้เรียนในการเรียนรู้แต่ละเรื่องหรือแต่ละหน่วยการเรียนรู้
ลักษณะของจุดประสงค์ทั่วไป มีดังนี้
1. ตอบสนองพฤติกรรมสำคัญของจุดหมายหลักสูตร จุดประสงค์สาขาวิชา มาตรฐานวิชาชีพ สาขาวิชา/สาขางาน จุดประสงค์รายวิชาและมาตรฐานรายวิชา
2. สะท้อนคุณลักษณะที่พึงประสงค์ที่เป็นผลจากการเรียนรู้ โดยครอบคลุมทั้งด้านความรู้ความคิดความสามารถในการปฏิบัติ เจตคติและกิจนิสัยที่พึงประสงค์
3. การเขียนจุดประสงค์ทั่วไป จะใช้คำกิริยากว้าง ๆ โดยเขียนเป็นข้อ ๆ แต่น้อยข้อครอบคลุมสิ่งที่ต้องการให้เกิดขึ้นกับผู้เรียนตามคำอธิบายรายวิชา เช่น เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจ ตระหนัก เห็นคุค่า สามารถ เป็นต้น
ประโยคของจุดประสงค์ทั่วไป
ประธาน + กริยารวม ๆ + เรื่องที่จัดการเรียนรู้ (หัวข้อใหญ่ที่ 1..2..3) +เกณฑ์กว้าง ๆ
เช่น
1 . ผู้เรียน + ประดิษฐ์ + เครื่องแขวนจากเปลือกหอย + ได้
2 . ผู้เรียน + หา + ปริมาตรดินถม + ได้
3 . ผู้เรียน + เขียน + สมการการสมดุล + ได้
จุดประสงค์เชิงพฤติกรรม
จุดประสงค์เชิงพฤติกรรม หรือจุดประสงค์นำทาง หรือจุดประสงค์เฉพาะ คือ จุดประสงค์ที่วิเคราะห์ออกมาจากจุดประสงค์ทั่วไป โดยกำหนดพฤติกรรมสำคัญที่คาดหวังให้เกิดกับผู้เรียนในการเรียนรู้แต่ละหน่วยการเรียนรู้ตามแผนการจัดการเรียนรู้
ลักษณะของจุดประสงค์เชิงพฤติกรรม มีดังนี้
1. สอดคล้องกับจุดประสงค์ทั่วไปโดยแตกย่อยออกมาจากจุดประสงค์ทั่วไป และแสดงถึงรายการพฤติกรรมคาดหวังที่จะทำให้การเรียนรู้บรรลุตามที่กำหนดไว้ในจุดประสงค์ทั่วไป
2. แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้เรียนหลังจบการเรียนรู้ในเรื่องหรือหน่วยการเรียนรู้นั้น ๆ
3. การเขียนจุดประสงค์เชิงพฤติกรรม ผู้สอนควรพิจารณาโดยคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้
1. ควรเขียนให้ครอบคลุมทั้งด้านพุทธิพิสัย ทักษะพิสัยและจิตพิสัย แต่การเขียนจุดประสงค์เชิงพฤติกรรมด้านจิตพิสัยนั้นอาจทำได้ยากเพราะผู้สอนไม่สามารถสังเกตได้โดยตรง ในกรณีนี้ถ้าไม่สามารถเขียนเป็นจุดประสงค์เชิงพฤติกรรม อาจเขียนเป็นจุดประสงค์เฉพาะ เช่น ใช้คำว่า บอกคุณค่า บอกประโยชน์เพื่อสะท้อนให้เห็นพฤติกรรมของผู้เรียนว่ามีความตระหนักหรือเห็นถึงคุณค่าของสิ่งนั้น ๆ
2. จุดประสงค์เชิงพฤติกรรมต้องมีลักษณะชัดเจน รัดกุม ไม่คลุมเครือ เพื่อให้สามารถเข้าใจได้ตรงกัน และสามารถสังเกตได้หรือวัดได้
3. จุดประสงค์เชิงพฤติกรรมที่สมบูรณ์จะประกอบด้วย 3 องค์ประกอบ คือ พฤติกรรมที่คาดหวัง สถานการณ์/เงื่อนไข และเกณฑ์ อธิบายได้ดังนี้ พฤติกรรมที่คาดหวัง โดยแต่ละข้อจะต้องระบุพฤติกรรมที่คาดหวังเพียง 1 พฤติกรรมและควรพิจารณาเลือกคำกริยาที่แสดงพฤติกรรมที่คาดหวังให้ถูกต้องตามระดับขั้นของพฤติกรรมการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นกับผู้เรียน สังเกตได้ เช่น อ่าน เล่าเรื่อง อธิบาย บอก ชี้ หยิบ เลือก ตอบ สรุป ทำ เขียน ฟัง ปฏิบัติ จับใจความ ฯลฯ สถานการณ์/เงื่อนไข ที่ทำให้เกิดพฤติกรรม ได้แก่ โอกาสหรือสภาพ ทำให้ผู้เรียนแสดงพฤติกรรมออกมา เช่น เมื่อกำหนดข้อความให้ เมื่อฟังโฆษณาแล้ว หลังจากฟังเพื่อนเล่านิทานแล้ว อ่านในใจจากบทเรียนแล้ว และเกณฑ์หรือระดับความสามารถที่ผู้เรียนแสดงออกมาขั้นต่ำสุดที่จะยอมรับได้ว่าผู้เรียนเกิดความรู้จริง นั่นคือ ผ่านหรือไม่ผ่านจุดประสงค์ เช่น ทำไดทุกข้อ อ่านได้ถูกต้อง เขียนคำให้ได้ 8 ใน 10 คำ บรรยายภาพได้
บางกรณีอาจจะเว้นการเขียนสถานการณ์/เงื่อนไขไว้ในฐานะที่เข้าใจกัน หาก
พิจารณาว่าจุดประสงค์นั้นสมบูรณ์พอ หรือไม่ระบุเกณฑ์ของพฤติกรรมโดยนำไปกำหนดไว้ในเกณฑ์การประเมินแทน นอกจากนี้ควรละเว้นการเขียนส่วนขยายที่ไม่จำเป็นด้วย ตัวอย่างเช่น
· หลังจากศึกษาเรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง” แล้ว ผู้เรียนสามารถอธิบายหลักการของเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างถูกต้อง โดยไม่ต้องเปิดตำรา
· สามารถติดตั้งเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ตามคู่มือได้อย่างคล่องแคล่ว ในเวลา 5 นาที
· เพื่อให้ผู้เรียนสามารถยกตัวอย่างเครื่องมือการเกษตรได้อย่างน้อย 10 ชนิด
4. การเขียนจุดประสงค์เชิงพฤติกรรมจะเขียนเป็นข้อ ๆ เรียงตามลำดับพฤติกรรมที่เกิดก่อนจำนวนข้อจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์รายวิชา มาตรฐานรายวิชาและคำอธิบายรายวิชา รวมทั้งเวลาที่กำหนดในการจัดการเรียนรู้แต่ละเรื่อง / หน่วยการเรียนรู้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น