รูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนตามแนวคิดของทฤษฎีคอนสตรัคติวิสม์
กรอบความคิดในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์
ตามแนวคิดของทฤษฎีคอนสตรัคติวิสม์ เพื่อเพิ่มทักษะการแก้ปัญหา
ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น
จากการศึกษาแนวคิด หลักการ ทฤษฎี
เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องผู้วิจัยจึงนำมาสู่การสังเคราะห์เป็นการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน
ตามกรอบความคิดในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์
ตามแนวคิดของทฤษฎีคอนสตรัคติวิสม์ เพื่อเพิ่มทักษะการแก้ปัญหา
ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น ดังนี้
หลักการและเป้าหมาย
จากการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน
ตามแนวคิดของทฤษฎีคอนสตรัคติวิสม์
มุ่งพัฒนานักเรียนได้มีโอกาสได้สร้างความรู้ด้วยตนเอง
โดยครูผู้สอนเป็นผู้จัดกิจกรรมการเรียนการสอน
ให้นักเรียนได้เผชิญกับสถานการณ์ปัญหาที่สัมพันธ์กับเนื้อหาของบทเรียนและสอดคล้องกับชีวิตประจำวัน
นักเรียนได้แก้ปัญหาเป็นรายบุคคลด้วยวิธีที่หลากหลาย
เนื่องจากข้อมูลความรู้ที่มีอยู่เดิมไม่เพียงพอหรือไม่สอดคล้องกับปัญหาที่ได้รับ
ทำให้เกิดการพิจารณาไตร่ตรองหาข้อมูลมาเพิ่มเติม โดยการอธิบาย
ถกเถียงแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน
การจัดสถานการณ์ให้เกิดการสร้างความรู้นี้
ทำให้นักเรียนได้นำความรู้เดิมมาเชื่อมโยงกับความรู้ใหม่
มีโอกาสสร้างความรู้ด้วยตนเองจึงเป็นความรู้ที่มีความหมายสำหรับนักเรียน
ครูผู้สอนเป็นเพียงผู้กระตุ้นให้นักเรียนมีความกระตือรือร้นในการคิดค้นเพื่อให้เกิดการเรียนรู้
อำนวยความสะดวก
ช่วยเหลือชี้แนะและตรวจสอบความคิดของนักเรียนกิจกรรมการเรียนการสอนที่สังเคราะห์ขึ้นมีองค์ประกอบ
ดังนี้
จุดมุ่งหมาย
1 เพื่อให้นักเรียนเรียนรู้มโนทัศน์
การคิดคำนวณและการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ได้
2
เพื่อให้นักเรียนได้สำรวจและเผชิญความคิดของตนเอง
3
เพื่อให้นักเรียนได้มีโอกาสในการแก้ปัญหาอย่างอิสระและมีเหตุผล
4
เพื่อให้นักเรียนได้รู้จักแนวทางในการแก้ปัญหาหลายๆวิธี
5
เพื่อให้นักเรียนได้พัฒนาเปลี่ยนแปลงและขยายความคิดของตนเอง
โดยการแก้ปัญหาที่นักเรียนสนใจและตรวจสอบคำตอบที่คาดคิดไว้
6 เพื่อให้นักเรียนตระหนักว่าความคิดที่แท้จริงของตนเองนั้นมีความหมายและมีคุณค่า
7
เพื่อให้นักเรียนได้มีการสะท้อนกลับอย่างมีวิจารณญาณและพิจารณาอย่างรอบคอบถึงวิธีการที่ได้มาซึ่งคำตอบด้วยวิธีการที่รวดเร็ว
8
เพื่อให้นักเรียนนำความรู้ที่ได้จากบทเรียนไปใช้กับสถานการณ์ใหม่ได้
องค์ประกอบ
การพัฒนามโนทัศน์
การพัฒนาทักษะและการพัฒนาการแก้ปัญหาหรือการนำความรู้ไปใช้ใน
สถานการณ์ปัญหาอื่นๆ
ซึ่งได้นำมาจัดไว้ในกิจกรรมการเรียนการสอน
ขั้นตอนการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน
ตามแนวคิดของทฤษฎีคอนสตรัคติวิสม์ที่สังเคราะห์ขึ้น มีดังนี้
1 ขั้นนำเข้าสู่บทเรียน
ซึ่งเป็นขั้นตอนการเตรียมความพร้อมของนักเรียน
โดยการทบทวนความรู้เดิมและพยายามกระตุ้นให้นักเรียนระลึกถึงประสบการณ์เดิมที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเนื้อหาใหม่ด้วยวิธีการต่างๆ
เช่น การสร้างสถานการณ์ ยกตัวอย่าง ใช้เกม ใช้คำถาม ฯลฯ เพื่อเป็นแรงจูงใจในการเรียนเนื้อหาใหม่และเพื่อเป็นพื้นฐานในการสร้างโครงสร้างใหม่ทางปัญญา
ครูผู้สอนจะต้องค้นหาและระลึกถึงความรู้และประสบการณ์เดิมของนักเรียน
เพราะถ้านักเรียนสามารถระลึกถึงประสบการณ์เดิมได้มากนักเรียนจะมีข้อมูลที่จะนำมาใช้ในการแก้ปัญหาด้วยวิธีการที่หลากหลายได้มาก
ดังนั้นนักเรียนจะต้องแสดงออกมาให้ครูผู้สอนเห็นว่าแต่ละคนมีความรู้พื้นฐานเดิมในเรื่องที่เรียนมากน้อยเพียงใดเพื่อเป็นการทดสอบความคิดรวบยอดความรู้เดิมที่สัมพันธ์กับเนื้อหาใหม่
หลังจากนั้นครูผู้สอนแจ้งจุดประสงค์การเรียนรู้ให้นักเรียนทราบ
2 ขั้นสอน
2.1 ขั้นเผชิญสถานการณ์ปัญหา
ซึ่งเป็นแก้ปัญหาเป็นรายบุคคล
ครูผู้สอนเสนอสถานการณ์ที่เป็นปัญหาที่สัมพันธ์กับบทเรียนและสอดคล้องกับชีวิตประจำวัน
เหมาะสมกับวัยและความสามารถของนักเรียนเป็นแรงจูงใจให้นักเรียนเกิดความอยากรู้อยากเห็น
ซึ่งนักเรียนทำความเข้าใจสถานการณ์ปัญหาและหาแนวทางในการแก้ปัญหา
โดยใช้สื่อที่เป็นรูปธรรมที่ครูผู้สอนเตรียมให้
ครูผู้สอนกระตุ้นให้นักเรียนพยายามสำรวจหาวิธีการแก้ปัญหาที่หลากหลายเป็นรายบุคคล
โดยใช้คำถามในลักษณะสร้างสรรค์
ซึ่งทำให้นักเรียนนำความรู้เดิมที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องที่เคยเรียนมาใช้ในการแก้ปัญหา
2.2 ขั้นกิจกรรมไตร่ตรองระดับกลุ่มย่อย
เป็นขั้นตอนที่สมาชิกในกลุ่มย่อย
เสนอแนวทางแก้ปัญหาของตนเองที่อาจเป็นไปได้ต่อกลุ่มย่อย
ครูผู้สอนจะต้องพยายามกระตุ้นให้นักเรียนสะท้อนความคิดออกมา
เพราะการสะท้อนความคิดเป็นการแสดงออกถึงความรู้ความเข้าใจของนักเรียนว่ามีมากน้อยเพียงใด
ที่ช่วยให้สมาชิกเห็นแนวทางแก้ปัญหาของคนอื่นมากยิ่งขึ้น โดยใช้สื่อรูปธรรม
ทดลองและปฏิบัติให้เห็นจริงมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน
จากนั้นให้เพื่อนๆช่วยกันตรวจสอบความถูกต้องความสมเหตุสมผลจากการได้ปฏิบัติจริง
มีการนำวิธีการของนักเรียนแต่ละคนในกลุ่มมาลองใช้กับสถานการณ์ตัวอย่าง
ซึ่งแต่ละคนอาจจะมีวิธีการที่แตกต่างกัน
ดังนั้นในแต่ละกลุ่มอาจมีวิธีการในการแก้ปัญหามากกว่า 1 วิธี เพื่อเสนอต่อทั้งชั้น
2.3
เสนอแนวทางแก้ปัญหาต่อทั้งชั้นเป็นขั้นตอนที่กลุ่มย่อยเสนอแนวทางการแก้ปัญหาและแสดงให้เห็นจริงถึงความสมเหตุสมผล
ในขั้นนี้กลุ่มย่อยจะมีส่วนช่วยทำให้ทุกคนมีความพร้อมที่จะนำเสนอแนวทางแก้ปัญหาต่อทั้งชั้น
พร้อมทั้งตอบข้อซักถามและชี้แจงเหตุผล
นักเรียนทุกคนจะได้มีส่วนร่วมในการอภิปรายและตรวจสอบถึงความถูกต้องและเหมาะสมในแนวทางการแก้ปัญหาประเมินทางเลือกถึงข้อดีข้อจำกัดของแต่ละทางเลือกและสรุปแนวทางเลือกทั้งหมด
เพื่อนำไปใช้ในการแก้ปัญหาในสถานการณ์อื่นๆ
ซึ่งครูผู้สอนต้องพร้อมที่จะรับฟังความหลากหลายและการให้เหตุผลที่แปลก
ซึ่งอาจจะช่วยให้นักเรียนคนอื่นๆเกิดความเข้าใจมโนทัศน์ทางคณิตศาสตร์
ครูผู้สอนไม่ควรปฏิเสธคำตอบหรือคำอธิบายของนักเรียนควรให้โอกาสนักเรียนที่ตอบคลาดเคลื่อนไปจากความคาดหวังของครูผู้สอน
อาจเป็นอีกทางหนึ่งที่นักเรียนได้สร้างขึ้นและช่วยให้ครูผู้สอนได้มีโอกาสตรวจสอบความเข้าใจของนักเรียนและถ้าครูผู้สอนมีวิธีการอื่นๆนอกเหนือจากที่นักเรียนนำเสนอไปแล้วแต่นักเรียนไม่ได้นำเสนอครูผู้สอนสามารถเพิ่มเติมได้อีก
3
ขั้นสรุปนักเรียนร่วมกันสรุปหลักการและกระบวนการแก้ปัญหา ในเรื่อง
ที่เรียนและครูผู้สอนช่วยเสริมแนวคิดหลักการความคิดรวบยอดและกระบวนการแก้ปัญหาให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
4 ขั้นฝึกทักษะและนำไปใช้
เป็นขั้นที่ให้นักเรียนฝึกทักษะจากใบงานที่ครูผู้สอนสร้างขึ้นที่มีสถานการณ์ที่หลากหลายหรือที่นักเรียนสร้างสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกับสถานการณ์เดิม
นักเรียนเลือกทางเลือกที่เหมาะสมเพื่อใช้ในการแก้ปัญหาและสามารถอธิบายวิธีแก้ปัญหาของตนเองได้
โดยให้เพื่อนในกลุ่มช่วยกันตรวจสอบคำตอบที่ถูกต้องจากบัตรเฉลย
นักเรียนแต่ละคนอาจจะเลือกใช้วิธีการในการแก้ปัญหาที่แตกต่างกัน
ซึ่งการฝึกทักษะจะช่วยให้นักเรียนมี
ความคงทนในการจำและเกิดความคล่องแคล่วแม่นยำรวดเร็วและพัฒนาความคิดอย่างมีเหตุผล
ครูผู้สอนจะต้องดูแลและให้ความช่วยเหลือในกรณีที่นักเรียนเกิดความขัดแย้งหาข้อสรุปไม่ได้
จากนั้นให้นักเรียนทำแบบฝึกหัดจากบทเรียน
5 ขั้นประเมินผล
ขั้นนี้จะประเมินผลจากการทำใบงาน
จากการทำแบบฝึกหัดในบทเรียนและจากสถานการณ์ที่นักเรียนสร้างขึ้น
นอกจากนั้นครูผู้สอนอาจใช้การสังเกตในการร่วมกิจกรรมในชั้นเรียน
เพื่อเป็นการตรวจสอบระดับความรู้ของนักเรียนในเรื่องที่เรียนว่านักเรียนมีความรู้ความสามารถตามเกณฑ์ที่ได้ตั้งไว้หรือไม่มากน้อยเพียงใด
เพื่อเป็นข้อมูลในการสอนซ่อมเสริมให้กับนักเรียนที่ยังไม่ผ่านจุดประสงค์การเรียนรู้ก่อนที่จะทำการสอนเนื้อหาอื่นๆต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น